รอมะฏอน










รอมะฎอน (อาหรับ: رمضان‎) การสะกดอื่นๆ รอมดอน รอมาดอน รอมะดอน รอมฎอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์ มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป้นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง กิจกรรมพิเศษของมุสลิมนิกายซุนนะหฺคือการละหมาดตะรอเวียะฮฺในยามค่ำของเดือนนี้

การถือศีลอดเป็นมุขบัญญัติ 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือที่มุสลิมเรียกว่ารุก่นอิสลาม ศีลอด หรือที่เรียกว่า "การถือบวช" ตามการเรียกที่คนไทยนิยมเรียกกัน เป็นศีลคล้ายๆ ศีล 5 ของพี่น้องชาวพุทธ แต่ศีลของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะแล้วจำเป็น (วายิบ) ต้องปฏิบัติศีลข้อนี้โดยเคร่งครัด ยกเว้นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ คนเดินทาง เหล่านี้ยกเว้น การถือศีลอด นั้นก็หมายความว่า บังคับกับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น

  
ในหนึ่งปีจะมีการถือศีลอดบังคับนี้เพียงหนึ่งเดือนคือเดือนรอมฎอน เดือนในอิสลามนับทางจันทรคติ ค่ำจึงมาก่อนวัน และเป็นไปตามข้อเท็จจริง กล่าวคือตะวันลับขอบฟ้าคือค่ำ ตรงกับวันอะไรก็เป็นค่ำคืนของวันนั้น หนึ่งเดือนจะมี 29 กับ 30 วัน

ฉะนั้นการกำหนดเดือนจึงอาศัยการดูดวงจันทร์เป็นสำคัญ การเห็นจันทร์เสี้ยวแรกนั้นหมายถึงค่ำนั้นเป็นค่ำของวันใหม่และขึ้นเดือนใหม่ด้วย ปัจจุบันความรู้ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้ามาก เราสามารถคำนวนการมีของจันทร์เสี้ยวได้อย่างแม่นยำ การดูจันทร์เสี้ยวจึงกำหนดองค์ศาและมุมได้อย่างชัดเจน เมื่อมีการคำนวนอายุของดวงจันทร์ กำหนดมุมและองค์ศาได้ การดูจึงไม่ยากอีกต่อไป

การถือศีลอดเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณ (ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น) ไปจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตลอดช่วงกลางวัน ผู้ที่ถือศีลอดจะกินหรือดื่มสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย ยกเว้นน้ำลาย จะเป็นน้ำสักหยดก็ไม่ได้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องยากมากๆ เพราะเราแค่อดข้าวมื้อเดียวก็ดูเหมือนจะไม่ไหวเสียแล้ว มีคำถามว่าทำไมมุสลิมอดได้ ถ้าจะตอบแบบไม่ต้องให้ถามต่อ ก็ตอบว่า"เพราะศรัทธา"

มีมุสลิมไม่ถือศีลอดหรือไม่ ? ตอบว่า "มี" ถ้าไม่ถือศีลอดด้วยข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่ปัญหา บางท่านก็อดไม่ได้ อาจจะด้วยศรัทธาหย่อนยาน เบาความนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าท่านไม่ถือศีลอดด้วยเหตุใดก็ตาม ในช่วงเดือนรอมฎอน ศาสนาก็ไม่อนุญาตให้ท่านมาเดินกินดื่มโชว์ชาวบ้านเขา ถ้าเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลาม คนนี้ถูกจับแน่ๆ อย่างเช่น ประเทศไทยถ้าใช้กฎหมายพุทธ คนดื่มเหล้าถูกจับแน่นอน

สมมุติเบดูอินไปกินข้าวจนอิ่ม นึกขึ้นได้ว่า กำลังถือศีลอด อย่างนี้เสียหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่เสีย แต่ต้องหยุดกินทันที การกระทำที่ไร้สติ หลงลืม ไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นความผิด แต่ไม่ใช่แกล้งลืม

การถือศีลอด ไม่ได้หมายความว่า ไม่กิน ไม่ดื่มเท่านั้น แต่หมายถึงการงดเว้น ในอบายมุขทุกประเภท ถือศีลอดแต่นั่งนินทาชาวบ้าน อันนี้ผิดการถือศิลอดเขามีปัญหาแน่ ฉะนั้น การมีเพศสัมพันธ์ การลักขโมย ฯลฯ เป็นสิ่งต้องห้าม เป้าหมายของการถือศีลอดนั้น พระผู้เป็นเจ้า อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์ว่า "เพื่อให้เกิดความยำเกรง" จึงสรุปได้ว่า หากมุสลิมไม่ถือศีลอด ด้วยกับไม่มีเหตุจำเป็น นั้นหมายความว่า มุสลิมคนนั้นไม่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าเลย

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่พระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน ได้ถูกประทานลงมาเป็นครั้งแรก ซึ่งคัมภีร์นี้มุสลิมถือว่าเป็นพระดำรัสของพระเจ้า (กาลามุลลอฮ์) มิใช่เป็นคำของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) และในค่ำคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนเป็นค่ำคืนแห่งเกียรติยศ (ลัยละตุลก็อดรฺ) ที่หากทำความดีตรงกับคืนนั้นจะมีความดีเท่ากับได้ทำเป็นพันเดือน (หรือประมาณ 80 ปีกว่า) การทำความดีอาสา (สุนัต) ได้ผลบุญเท่ากับทำความดีภาคบังคับ (ฟัรดู) ฉะนั้นเดือนนี้ศาสนาจึงสนับสนุนให้ทำความดี บริจาคทาน ช่วยเหลือคนยากจน ขัดสน เด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนที่ด้อยกว่า

 

นอกจากนี้การอ่านพระมหาคัมภีร์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ เราจึงเห็นมุสลิมโดยทั่วไปจะอ่านคัมภีร์ เรื่องการอ่านคัมภีร์นี้เป็นสิ่งที่จำเป็น คนมุสลิมแม้จะแปลคัมภีร์ไม่ได้แต่จะอ่านคัมภีร์ได้เป็นส่วนมาก เด็กๆทุกคนจะมีการเรียนการสอนในเรื่องนี้ที่เรียกว่าฟัดูอีนหรือตาดีกา ในภาคใต้ ฉะนั้นมุสลิมเกือบทุกคนจะอ่านพระคัมภีร์ได้

นี่คือความสำคัญของเดือนนี้ นี่คือคำตอบว่าทำไมมุสลิมจึงให้ความสำคัญกับเดือนนี้มาก ความจริงเมื่อถึงเดือนรอมฎอน มุสลิมทุกคนน่าจะหลีกหนี ไม่อยากให้เดือนนี้มาถึงเพราะต้องอด แต่ตรงกันข้ามมุสลิมทุกคนกลับรอคอยเดือนนี้ด้วยความยินดี จะสังเกตุว่าในชุมชนมุสลิมจะคึกคัก ค่ำคืนจะสว่างไสว ในมัสยิด (สุเหร่า) จะมีคนมาทำความดี (อิบาดะฮ์) กันอย่างมากมาย ดึกดื่น

แต่ว่าวิถีชีวิตก็เป็นไปตามปกติ ใครทำงานอะไรก็ทำอย่างนั้น มิใช่ว่าพอถือศีลอดแล้ว นั่งงอมืองอเท้า ไม่ทำมาหากิน อย่างนี้ก็ถือว่าผิด

การถือศีลอดได้ฝึกและสอนให้มีความอดทน มีเมตตา เห็นอกเห็นใจ คนยากจนหิวโหย ความหิวที่เกิดจากการถือศิลอดจะทำให้ระลึกถึงคนยากจนที่หิวโหย เมื่อก่อนที่เราอิ่มเราจะนึกถึงคนที่หิวไม่ได้ว่ามันทรมานอย่างไร แต่เมื่อเราได้อดอย่างนี้เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า คนที่หิวนั้นทรมานเช่นไร ?

ท่านศาสดากล่าวว่า "ท่านจงถือศีลอด แล้วท่านจะสุขภาพดี" มีแพทย์หลายท่านได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้ ยอมรับว่าการที่ร่างกายได้หยุดพักแบบจริงๆ อย่างนี้ทำให้โรคบางอย่างหายไป ร่างกายได้มีโอกาสซ่อมแซม เฉกเช่นเครื่องยนต์ที่เดินเครื่องมาตลอดไม่เคยหยุดพักเลย ได้หยุดเสียบ้างก็จะดี การหยุดไม่กินไม่ดื่มเลยจริงๆ ทำให้กระเพราะอาหารได้พักผ่อน โรคบางโรคหายได้เช่นโรคกระเพาะอาหาร

คนเรากินอาหาร 3 มื้อก็จริง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วกินตลอดวัน กระเพาะอาหารต้องทำงานตลอดเวลา เป็นต้นเหตุให้ร่างกายเกิดโรคสารพัด อย่างในปัจจุบัน การหยุดกินเสียบ้างก็จะทำให้ร่างกายได้พักผ่อน

เมื่อสิ้นเดือนรอมะฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า อีดุลฟิฏริหรือ วันอีดเล็ก

ในปี พ.ศ.2549 เดือนรอมะฎอน (ฮ.ศ.1427) เริ่มเมื่อวันที่ 23 กันยายน (ซาอุดีอาระเบีย, อ่าวเปอร์เซีย และบางส่วนของในตะวันออกกลาง) และวันที่ 24 กันยายน ในที่อื่นๆ (รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของตะวันออกกลาง) โดยมีกำหนดถึงวันที่ 23 ตุลาคม
การถือศีลอด ในเดือนรอมาฎอน

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย  การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเหนือบรรดาสูเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดเหนือบรรดาปวงชนก่อนสูเจ้า เพื่อว่าสูเจ้าจะได้หวั่นเกรงความชั่ว...”
(อัลบะกอเราะฮฺ : 183)

ผู้ที่จำเป็นต้อง ถือศีลอด มีกฎเกณฑ์ 5 ประการ

1.       ต้องเป็นมุสลิม
2.       มีอายุครบกำหนดตามศาสนบัญญัติ
3.       มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์  ไม่วิกลจริต
4.       มีร่างกายแข็งแรง สามารถถือศีลอดได้ตลอดทั้งวัน
ขั้นตอนปฎิบัติการถือศีลอด

1.       ต้องตั้งเจตนา (เนียต) ในการถือศีลอดทุกๆคืนระหว่างดวงอาทิตย์ตกจนถึงแสงอรุณขึ้น โดยอ่านและเนียต ดังนี้

“นาวัยตูเซามาฆ่อดิน อันอาด้าอี ฟัรดีชะฮฺรีรอมาฎอน ฮาซี่ฮิซซานาตี ลิ้ลลาฮีตาอ้าลา”

เนียตว่า   “ข้าพเจ้าถือศีลอดในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นฟัรฎูเดือนรอมาฎอนในปีนี้ เพื่ออัลเลาะฮฺตะอาลา”

2.       ต้องอดกลั้นต่อบรรดาการกระทำต่างๆ ซึ่งเป็นข้อห้ามที่จะทำให้เสียศีลอด
ข้อห้ามขณะ ถือศีลอด

1.       ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
2.       ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
3.       ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
4.       ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา
ข้อห้ามเหล่านี้ ห้ามเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนน้ำลายในปากกลืนได้ไม่ห้าม
สิ่งที่ทำให้เสีย ศีลอด

1.       กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดจากข้อห้าม 4 ข้อที่กล่าวมาแล้ว
2.       เสียสติ  เป็นลม หรือปราศจากความรู้สึกผิดชอบ
3.       มีประจำเดือนหรือเลือดหลังการคลอดบุตร
4.       หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม (ตกมุรตัร)
การเหนีต คำเนียตถือศีลอด
ผู้ที่เสียศีลอด ต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลัง

การถือศีลอดให้เนียตในเวลากลางคืน ก่อนแสงอรุณขึ้น
อ่านว่า นะวัยตุเชาม่าฎ่อดิน อันอ่าดาอิ ฟัรดิ ร่อมาดอนน่า ฮาซิฮิสส่าน่ะติ ลิ้ลลาฮิต่าอาลา
ดุอาในการแก้หรือละศีลอด ควรอ่านดุอาต้นนี้ก่อนจะแก้ศีลอด

อ่านว่า อัลลอฮุมม่าล่าก่าสุมตุ  วาบี้ก้าอามันตุ ว่าล่าก่าอัซลัมตุ ว่าอ่าลาริษกี้ก้าอัฟฎ้อรตุ ยาวาซิอัลเม้าฆ ฟิร่อตี้ บี้รอฮม่าตี้ก้า ยาอัรห่ามัรรอฮี่มีน


วิธีต้อนรับรอมาฏอน
โดย  อาจารย์อิมรอน สาดและ
ขอความสุขสวัสดี ความกรุณาปรานีจากอัลลอฮฺ   จงประสบแด่บรรดาพี่น้องผู้ศรัทธา ที่เคารพรักทุกท่าน อัลฮัมดูลิลลาฮ์ วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่เรามาร่วมกัน ปฏิบัติภารกิจทางศาสนาเป็นประจำทุกๆ วันศุกร์คือการละหมาดฟัรดูวันศุกร์ ซึ่งวันนี้ในปฏิทินอิสลาม ได้เข้าสู่เดือนชะห์บาน หลายคนได้ทำการถือศีลอดซุนนะฮ์ ในเดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญนั่นคือ ค่ำวันที่ 26 รอญับ เป็นคืนอิสรออฺและเมี๊ยะราจ ได้มีการนำมาพูดให้บรรดาญาติพี่น้องและลูกหลานของเรา ได้รับฟังเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไปแล้ว บัดนี้เราได้ใช้ชีวิตในช่วงเดือนชะห์บาน นั่นหมายความว่า อีกไม่ถึงเดือนเราคงได้ใช้ชีวิดในเดือนรอมาฏอน
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่มีอัลลอฮ์อยู่ ในหัวใจ มีวันกิยามะฮ์เป็นวันแห่งการตอบแทน มีโลกอาคีเราะฮ์เป็นโลกที่ถาวร จำเป็นต่อผู้ศรัทธาที่จะต้องต้อนรับรอมาฏอนอย่างถูกวิธี เราเหลือเวลาอีกไม่มากนัก ที่จะถึงเดือนอันยิ่งใหญ่ เดือนที่ประเสริฐที่สุด มีนักวิชาการได้พยายามค้นหาข้อมูลเพื่อเตรียมต้อนรับรอมาฏอนไว้มากมาย หนึ่งในบรรดานักวิชาการ เขาให้พี่น้องผู้ศรัทธาเตรียมการต้อนรับเดือนรอมดอนที่จะมาถึง ดังนี้

เดือนรอมาฏอนที่จะมาถึง เราต้อนรับเดือนรอมาฏอนอย่างไร ? เดือนรอมาฏอนมีความสำคัญอย่างไร ?
( إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّة وَأُغْلِقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ وَصُفِّدَتِ الشَّيَاطِيْنُ )
“เมื่อเดือนรอมาฏอนมาถึง ประตูต่างๆของสวรรค์ก็ถูกเปิด และประตูต่างๆของนรกก็ถูกปิด และบรรดาชัยฏอนก็ถูกพันธนาการไว้” (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม)
ท่านมีความรู้สึก ต่อเดือนรอมาฏอนอย่างไร ?
เมื่อท่านนบีมุฮัมมัดได้ก้าวขึ้นบน มิมบัรท่านได้กล่าวว่า “อามีน อามีน อามีน” มีผู้ถามว่า “โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮ์ แท้จริงเมื่อท่านได้ก้าวขึ้นมิมบัร ท่านได้กล่าวว่า “อามีน อามีน    อามีน” ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ตอบว่า
( إِنَّ جِبْرَائِيْلَ أَتَانِيْ فَقَالَ : مَنْ أَدْرَكَ شَهْرَ رَمَضَانَ فَلَمْ يُغْفَرْ لَهُ فَدَخَلَ النَّارَ فَأَبْعَدَهُ اللهُ . قُلْ : آمِيْنَ ، فَقُلْتُ : آمِيْنَ ... )
“แท้จริงญิบรออีล ได้มาหาฉัน (ขณะนั้น) แล้วกล่าว ว่า ผู้ใดเข้าสู่เดือนรอมดอน แล้วเขาไม่ได้รับการอภัยโทษ เขาเข้าสู่ไฟนรก ขอให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ ท่านจงกล่าวว่า อามีน แล้วฉันก็กล่าวว่า อามีน” (บันทึกโดย อะหมัด และอัลบัยฮะกีย์)
สังคมมองเดือนรอมาฏอนอย่างไร ?
﴿ شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الهُدَى وَالْفُرْقَانِ ، فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ﴾
“เดือนรอมาฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอาน ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้นเถิด” (บะเกาะเราะฮฺ 185)
จะทำอย่างไรให้เดือนรอมาฏอน เป็นเดือนอันประเสริฐที่มีคุณค่าในชีวิตและสังคมของเรา ?
วิธีต้อนรับเดือนรอมดอน
วิธีที่ 1 الدعاء
การวิงวอน(ดุอาอฺ)ต่อ อัลลอฮ์ ให้เรามีชีวิตได้ทันทำ อิบาดะฮ์ ในเดือนรอมาฏอนอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสุขภาพพลานามัยอันสมบูรณ์
أنه قال كان النبي صلى الله عليه وسلم إذا دخل رجب قال ( اللهم بارك لنا في رجب وشعبان وبلغنا رمضان ( رواه أحمد والطبراني )
ท่าน อนัสอิบนุมาลิก ได้รายงานไว้ว่า เมื่อถึงเดือนรอญับแล้ว ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ ขอให้เรามีความจำเริญในเดือนรอญับและเดือนชะอ์บาน และขอให้เราบรรลุเดือนรอมาฏอน” (บันทึกโดยอะหมัดและฏ๊อบรอนียฺ)
บรรดาสะละฟุศศอและฮ์มักจะวิงวอนหลายเดือน เพื่อจะได้บรรลุเดือนรอมาฏอน และวิงวอนเพื่อให้อัลลอฮ์ตอบรับความดีงามที่ได้ทำไว้ในเดือนรอมาฏอน
دعاء رؤية الهلال     เมื่อมุสลิมเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนรอมาฏอน มีซุนนะฮ์ให้กล่าวดังนี้
الله أكبر اللهم أهله علينا بالأمن والإيمان والسلامة والإسلام والتوفيق لما تحب وترضى ربي وربك الله
[ رواه الترمذي , والدارمي , وصححه ابن حبان[
“อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุมมะอะฮิลละฮู อะลัยนา บิลอัมนิ วัลอีมานิ วัสสลามะติ วัลอิสลามิ วัตเตาฟีกิ ลิมา ตุฮิบบุ วะตัรฎอ ร็อบบี วะ ร็อบบุกัลลอฮุ”
ความว่า “อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร โอ้อัลลอฮ์ ขอให้ (จันทร์เสี้ยวนี้) ปรากฏต่อเราด้วยความสวัสดิภาพ ความศรัทธา ความปลอดภัย อิสลาม และทางนำในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดและพอพระทัย พระผู้อภิบาลของฉันและท่าน คืออัลลอฮ์"   (บันทึกโดยติรมิซียฺและดาริมียฺ อิบนิฮิบบานกล่าวว่าศ่อเฮียะฮฺ)
วิธีที่ 2 الشكر
ต้อนรับเดือนรอมาฏอน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงโปรดประทานชีวิตและสุขภาพ จนมีโอกาสเข้าสู่เดือนรอมาฏอนและทำอิบาดะฮ์อีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นเกียรติอันล้ำค่าที่บ่าวของอัลลอฮ์ได้รับโอกาสในการทำความดีในเดือน อันประเสริฐนี้
อิมามนะวะวียฺ กล่าวว่า พึงทราบว่า เป็นสิ่งที่ชอบให้กระทำสำหรับทุกคน เมื่อได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ให้สุญูดเพื่อขอบคุณพระองค์ หรือสรรเสริญต่อพระองค์
การที่เราได้รับโอกาสถือศีลอดเดือนรอมาฏอน อีกปี ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ ที่ควรกล่าวคำขอบคุณต่ออัลลอฮ์      ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับเนียะมะฮ์นี้
วิธีที่ 3 السرور
ต้อนรับเดือนรอมดอนด้วยการแสดงความยินดี ความปลื้มใจ เช่นที่ท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวเมื่อใกล้เดือนรอมาฏอนว่า
( جاءكم شهر رمضان , شهر رمضان شهر مبارك كتب الله عليكم صيامه فيه تفتح أبواب الجنان وتغلق فيه أبواب الجحيم ... الحديث . ( أخرجه أحمد )
“เดือนรอมดอนมายังพวกท่านแล้ว เดือนรอมาฏอนเป็นเดือนอันมีความจำเริญยิ่ง อัลลอฮ์ทรงบัญญัติให้พวกท่านถือศีลอดในเดือนนี้ ประตูสวรรค์จะถูกเปิด และประตูนรกจะถูกปิด” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด)
บรรดาอัสสะละฟุศศอและฮ์ จะแสดงความดีใจและเอาใจใส่ในการต้อนรับเดือนรอมาฏอน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธา ที่จะปิติยินดีเมื่อมีโอกาสกระทำความดีอันเป็นหนทาง สู่ความเมตตาของอัลลอฮ์
วิธีที่ 4 التخطيط
ต้อนรับเดือนรอมาฏอน ด้วยการวางแผนและความตั้งใจ ในการรับประโยชน์และผลบุญอย่างสุดความสามารถ เพราะชาวอาคิเราะฮ์จะวางแผนเพื่อโลกหน้า เหมือนชาวดุนยาที่มักจะวางแผนเพื่อโลกนี้   ตัวอย่างในการวางแผนในเดือนรอมาฏอนคือ การจัดตารางทำอิบาดะฮ์ ทำความดี และให้มีระบบในการบริหารเวลาในเดือนนี้
วิธีที่ 5 الميثاق الأكيد
ต้อนรับเดือนรอมาฏอน ด้วยการทำสัญญากับอัลลอฮ์ ให้พระองค์ทรงโปรดเอื้ออำนวยให้เรานั้น ปฏิบัติอิบาดะฮ์อย่างจริงใจ และให้คำมั่นสัญญานี้มีความบริสุทธิ์ใจ เพราะอัลลอฮ์  ทรงสัญญาไว้ว่า
( فَلَوْ صَدَقُوْا اللهَ لَكَانَ خَيْرَاً لَهُمْ )  “ดังนั้น หากพวกเขาจริงใจต่ออัลลอฮ์แล้ว ก็จะเป็นการดีแก่พวกเขา”
และท่านนบี เคยพูดกับสาวกท่านหนึ่งว่า
( إِنْ تَصْدُقِ اللهَ يَصْدُقْكَ )  “ถ้าหากท่านจริงใจต่ออัลลอฮ์ อัลลอฮ์จึงจะจริงใจต่อท่าน”
วิธีที่ 6 العلم
ต้อนรับเดือนรอมาฏอนด้วยการศึกษา แสวงหาความรู้ เกี่ยวกับการถือศีลอด และปัญหาที่ใกล้เคียง เพื่อเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติ  อิบาดะฮ์อย่างถูกต้อง เพราะเราถูกใช้ให้ถามผู้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราทุกๆคนที่ต้องเอาใจใส่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และอย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะผลกระทบจากการที่ไม่รู้หลักการของการถือศีลอดนั้น อาจทำให้สูญเสีย ซึ่งผลบุญที่เรามุ่งมั่นแสวงหาอย่างขะมักเขม้น จึงทำให้พวกเราขาดทุนโดยไม่รู้สึกตัว
วิธีที่ 7 التوبة
การต้อนรับเดือนรอมาฏอนด้วยความตั้งใจห่างไกล ละทิ้งความผิดทุกชนิด และกลับเนื้อกลับตัวอย่างบริสุทธิ์ใจ เพราะบรรดาผู้ศรัทธา มีหน้าที่ต้องเตาบัต (กลับเนื้อกลับตัว) ในทุกเวลาอยู่แล้ว เมื่อถึงเดือนรอมาฏอน ก็เป็นโอกาสทองที่เราต้องเตาบัตตัว เพราะถ้าหากไม่สามารถกลับเนื้อกลับตัวในเดือนนี้แล้วเมื่อไหร่เล่าจะกลับเนื้อกลับตัว
الطريقة السابعة : علينا أن نستقبله بالعزم على ترك الآثام والسيئات والتوبة الصادقة من جميع الذنوب , والإقلاع عنها وعدم العودة إليها , فهو شهر التوبة فمن لم يتب فيه فمتى يتوب ؟" قال الله تعالى : { وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعاً أَيُّهَا
الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ } [ النور : 31].
วิธีที่ 8 الدعوة
ต้อนรับเดือนรอมาฏอนด้วยการเตรียมตัวเผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนรอ มาฏอน ให้คนใกล้เคียงมีแนวร่วมในการทำความดี เช่น เชิญชวนละหมาดที่มัสยิด ละหมาดตะรอเวียะฮ์ทุกคืน บริจาคทานทุกวัน อ่านอัลกุรอานให้มากๆ ระงับอารมณ์ให้หนักแน่น จัดบรรยายหรือนะศีหะฮฺ  สำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศอันสวยงามในสังคมของเรา
วิธีที่ 9 الصفحة البيضاء
ต้อนรับเดือนรอมาฏอน ด้วยชีวิตใหม่อันขาวบริสุทธิ์และปราศจากมลทิน โดยตั้งใจคืนดีกับ อัลลอฮ์ ปฏิบัติ หน้าที่ในฐานะเป็นบ่าวของพระองค์  ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ยืนหยัดในแนวทาง ของท่านรอซูล  ครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม คือชีวิตทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กับพระบัญชาของอัลลอฮ์ ชีวิตเช่นนี้ย่อมเป็นชีวิตที่สดใส มีความสุข และมีความสำเร็จอย่างแน่นอน
วิธีที่ 10 مشاركة المسلمين في آلامهم
ต้อนรับเดือนรอมาฏอน ด้วยจิตสำนึกอันเลื่อมใสต่อประชาชาติอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นพี่น้องมุสลิม ที่กำลังประสบความทุกข์ ให้เราร่วมความรู้สึกกับเขาในสิ่งที่เขากำลังประสบอยู่ เฉกเช่นพี่น้องมุสลิมที่ฟิลิสฏีน อัฟฆอนิสตาน ปากีสถาน อิรัก โซมาเลีย และที่อื่นๆ เพราะเดือนรอมาฏอนเป็นเดือนแห่งการต่อสู้นัฟซู ต่อสู้ชัยฏอน ต่อสู้ศัตรู

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลดีดีจาก : 
http://www.neutron.rmutphysics.com/teaching-glossary/index.php?option=com_content&task=view&id=8854&Itemid=17


http://islamhouse.muslimthaipost.com/main/index.php?page=sub&category=50&id=19077

0 ความคิดเห็น: